บทที่ 6
คำศัพท์ปรัชญาที่ควรรู้
1. ความสำคัญและปัญหาเรื่อง “ศัพท์เชิงปรัชญา”
แต่ละศาสตร์ต่างมี “คำศัพท์” เฉพาะของตน เพื่อทำให้เกิดมโนภาพที่ตรงกันความหมายของคำศัพท์ เป็นเรื่องของ “นิยาม” คำนั้น ๆ เพื่อให้เกิดมโนภาพที่ตรงกันต่อคำนั้น ๆ มีความพยายามของผู้ศึกษาปรัชญาที่จะนิยามหรือกำหนดคำศัพท์เชิงปรัชญา แต่ก็พบปัญหา กล่าวคือ
1.1 ศัพท์ปรัชญาบางคำ ใช้คำเดียวกัน แต่มีนิยามหรือความหมายหลายอย่าง นักปรัชญาบางท่านใช้คำหนึ่ง และกำหนดความหมายอย่างหนึ่ง ในขณะเดียวกัน นักปรัชญาอีกท่านหนึ่ง ใช้คำเดียวกัน แต่ให้ความหมายอีกแบบหนึ่ง จนบ่อยครั้ง อาจก่อให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันในความคิด เช่น คำว่า “Person” เป็นคำที่นักปรัชญาตะวันตก โดยเฉพาะแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มบุคคลนิยม (Personalism) นำมาใช้อธิบายเกี่ยวกับความเป็นบุคคล อันเป็นคุณลักษณะพื้นฐานและมีความหมายในเชิงพัฒนาความเป็นบุคคลให้มากขึ้น แต่มีแนวคิดทางปรัชญาตะวันออก เมื่อพบคำว่า “Person” กลับหมายถึง “อัตตา” ที่ควรทำให้ “อัตตา” ลดลง เพื่อหมดทุกข์ ซึ่งเราพบได้ในแนวคิดพุทธปรัชญา เป็นต้น
1.2 สำหรับประเทศไทย เนื่องจากยังไม่มีหน่วยงาน (อาจจะมีแต่ดูเหมือนยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร...ความเห็นของผู้เรียบเรียง) ที่รับผิดชอบการกำหนดคำศัพท์เชิงปรัชญาโดยตรง จึงทำให้เป็นปัญหาและเป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อการศึกษาปรัชญาในประเทศไทย
2. แนะนำตัวอย่างหนังสือกำหนดคำและนิยามศัพท์เชิงปรัชญา
การศึกษาวิชาปรัชญาที่นำเสนอในเอกสารนี้ เป็นเพียงการนำเสนอตัวอย่างคำศัพท์ปรัชญาที่ควรรู้บางคำเท่านั้น เพื่อเป็นตัวอย่างในการกำหนดการนิยาม นักศึกษาควรอ่านหนังสืออธิบายคำศัพท์เชิงปรัชญาที่มีผู้เรียบเรียงไว้เป็นอย่างดี ได้แก่
2.1 กีรติ บุญเจือ. สารานุกรมปรัชญา. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช. 2522
2.2 ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ปรัชญา. กรุงเทพฯ: บ. เท็กซ์ แอนด์ เจอร์นัล พับลิเคชั่น จำกัด. 2543.
2.3 Peter A. Angeled. Dictionary of Philosophy. New York : Harper & Row Inc. 1981.
3. คำแนะนำต่อการทำความเข้าใจคำศัพท์ปรัชญา
คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปท่องจำคำศัพท์ปรัชญาทุกคำ แต่อย่างน้อยขอเสนอแนะหลักการที่ใช้ปฏิบัติเกี่ยวกับการทำความเข้าใจคำศัพท์และนิยามคำศัพท์ทางปรัชญา สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษาวิชาปรัชญา กล่าวคือ
3.1 ให้ยึดคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นหลัก (เนื่องจากภาษาไทย มีผู้กำหนดไว้มากมาย หลายคำ และดูเหมือนว่าจะต้องมีการแปลไทยเป็นไทยอีกด้วย)
3.2 ให้เปรียบเทียบหนังสือที่อธิบายคำศัพท์หลาย ๆ เล่ม เพราะแต่ละท่านต่างมีความเข้าใจและอธิบายตามแนวทางของตน
3.3 โดยทั่วไป คำศัพท์ (ภาษาอังกฤษ) ของปรัชญา อาจมีความหมายที่ต่างจากคำศัพท์ (อังกฤษ) ทั่วไป แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ไม่ใช่แยกจากกันเด็ดขาด
3.4 เมื่อพบคำศัพท์ปรัชญา ให้นึกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำศัพท์นั้น ๆ แล้วค่อยนำสู่การกำหนดคำนิยามด้วยภาษาของเรา จะช่วยให้เราเข้าใจความหมายคำนั้นได้ง่ายขึ้น จำง่ายขึ้น
3.5 บ่อยครั้ง คำศัพท์ปรัชญามักอยู่เป็นคู่ ๆ กัน เพื่ออธิบายถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
3.6 เป็นต้น
4. คำศัทพ์ปรัชญา (บางคำ) ที่ควรรู้และตัวอย่างการนิยามศัพท์ เช่น
การนำเสนอคำศัพท์สำคัญ (บางคำ) ของปรัชญา ในครั้งนี้ ขอนำเสนอตามแนวทางที่ผู้เขียนใช้ (แนวทางส่วนตัว) เพื่อช่วยจำ และทำความเข้าใจ โดยทั่วไปเริ่มจากคำศัพท์ ต่อด้วยคำแปล ยกตัวอย่าง (เฉพาะบางคำที่ยกตัวอย่างได้) และกำหนดนิยามของคำนั้น
Being แปลว่า ภวันต์ ภาวะ สัต (ตรงข้ามกับ Nonbeing)
ตัวอย่างเช่น นาย ก. เทวดา ฯลฯ
หมายถึง สิ่งที่มีความเป็นอยู่ (Everything-that-is, That which is, is; and
that which is not, is not and can never be.) กล่าวคือ ทุกภาวะที่มี
ความมีอยู่ ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ทั้งที่เห็นได้และเห็น
ไม่ได้ โดยทั่วไป รวมความทั้งสิ่งมีอยู่ที่เป็นสากลและเฉพาะหน่วย
อาจแบ่งกว้าง ๆ ได้สองประเภท คือ ภวันต์ทั่วไป (เปลี่ยนแปลง
ได้ ไม่เป็นนิรันดร์) กับ ภวันต์นิรันดร (พระเจ้า)
Universal แปลว่า ภาวะ (สิ่ง) ที่เป็นสากล
ตัวอย่างเช่น มนุษย์ (โดยไม่เจาะจงมนุษย์คนใดคนหนึ่ง) ต้นไม้
(โดยไม่เจาะจงว่าต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง)
หมายถึง สิ่งที่บ่งบอกถึงทุกสิ่งในประเภทเดียวกัน โดยไม่เจาะจงถึง
สิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ
Particular แปลว่า ภาวะ (สิ่ง) เฉพาะหน่วย
ตัวอย่างเช่น นาย ก. นางสาว ข.
หมายถึง ภาวะ (สิ่ง) เฉพาะเจาะจงถึงสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ
Concept, idea แปลว่า มโนภาพ หรือมโนคติ
ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ หรือ ความคิดเกี่ยวกับ
เด็กผู้ชาย
หมายถึง ความคิดหรือความเข้าใจสากลว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งเป็น
ความสามารถของสติปัญญามนุษย์ที่สามารถแยกแยะระหว่าง
สิ่งหนึ่งจากสิ่งอื่น หรือแยกสิ่งสากลกับสิ่งเฉพาะหน่วย
Perception แปลว่า สัญชาณ
ตัวอย่างเช่น ความรู้เรื่องอาหาร (เกิดจากการเห็น ได้ชิม ได้กลิ่น ได้
สัมผัส)
หมายถึง ความรู้เฉพาะหน่วย อันเป็นการรับรู้ที่เกิดจากประสาทสัมผัส
หลายอย่างประกอบกัน
Act แปลว่า ภาวะจริง หรือ กรรตุภาพ
ตัวอย่างเช่น สภาวะปัจจุบันที่ ด.ช. ก. เป็นเด็กผู้ชาย
หมายถึง ภาวะที่ปรากฏของสิ่งนั้นที่กำลังเป็นสิ่งนั้นในขณะที่
เป็นอยู่ (มักคู่กับ Potency)
Potency แปลว่า ภาวะแฝง, สมรรถนภาพ
ตัวอย่างเช่น ศักยภาพที่ ด.ช. ก. สามารถที่จะเป็น บิดา แต่ไม่สามารถ
เป็นมารดาได้ในอนาคต
หมายถึง ศักยภาพ หรือพลังภายในของสิ่งนั้น ที่สิ่งนั้นสามารถที่จะ
เป็นได้ตามประเภทของมัน (มักคู่กับ Act)
Essence แปลว่า สารัตถะ
ตัวอย่างเช่น ความเป็น (ลักษณะที่เป็นสากลของ) มนุษย์
หมายถึง สิ่งที่ทำให้สิ่งนั้นเป็นอย่างนั้นและไม่เป็นสิ่งอื่น นำมาใช้คู่กับอัตถิ
ภาวะ เพื่ออธิบายองค์ประกอบของภวันต์
Existence แปลว่า อัตถิภาวะ, การมีอยู่
ตัวอย่างเช่น การมีอยู่ของ นาย ก.
หมายถึง การมีอยู่/ความมีอยู่ของภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ เป็นพื้นฐานของภาวะที่
มีอยู่ (สิ่งที่มีอยู่ทั่วไป) คู่กับ สารัตถะ เพื่ออธิบายองค์ประกอบของภวันต์
Accident แปลว่า คุณา
ตัวอย่างเช่น สีแดง น้ำหนัก ส่วนสูง เป็นต้น
หมายถึง ส่วน/องค์ประกอบที่ไม่อาจมีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง แต่
ต้องอยู่คู่กับสาระเสมอ เพื่อบ่งบอกและเสริมภาวะของสิ่งนั้น
Substance แปลว่า สารหรือสาระ
ตัวอย่างเช่น สาระ (ความเป็นมนุษย์) ของ นาย ก.
หมายถึง แก่นสารหรือเนื้อหาของสิ่งที่มีอยู่ทั้งหลาย สามารถมีอยู่ได้
ด้วยตนเอง มีลักษณะเป็นสากล ทำให้เราสามารถบอกได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร มีความหมายใกล้เคียงกับสารัตถะ
Sensation แปลว่า ผัสสะ หรือประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส
ตัวอย่างเช่น การได้เห็น ด.ช. ก. กำลังเรียนหนังสือ
หมายถึง การรับรู้ทางประสาทสัมผัสภายนอก หรือการมีประสบการณ์
ต่อสิ่งต่างๆ อาศัยประสาทสัมผัส ได้แก่ การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การสัมผัส และการชิมรส
Sense แปลว่า ประสาทสัมผัส หรืออายตนะ
ตัวอย่างเช่น ตา (ใช้มองเห็นสิ่งนั้น) หู (ใช้ฟังเสียงสิ่งนั้น)
หมายถึง สิ่ง (อวัยวะภายนอก) ที่มนุษย์ใช้สำหรับรับรู้สิ่งภายนอก ได้แก่ ตา (ดู) หู (ฟัง) จมูก (ดมกลิ่น) ลิ้น (ชิมรส) และ กาย (สัมผัส)
Fact แปลว่า ข้อเท็จจริง
ตัวอย่างเช่น ด.ช. ก. กำลังทานข้าว
หมายถึง สิ่งที่ปรากฎภายนอก สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
เพื่อใช้ตัดสินว่าสิ่งที่พูด/ข้อความนั้นจริงหรือเท็จ
Reality แปลว่า ความเป็นจริง
ตัวอย่างเช่น นาย ก. (ที่เป็นตัว นาย ก. จริง ทั้งที่มีส่วนที่ผัสสะได้ และ
ไม่ได้)
หมายถึง ภาวะ หรือสภาพที่ภาวะ (สิ่งนั้น) ที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ (ไม่ใช่
แค่สิ่งที่ปรากฎออกมาให้เห็น หรือรับรู้ทางประสาทสัมผัสเท่านั้น) อาจรับรู้
หรือไม่อาจรับรู้ได้ด้วยผัสสะก็ได้ (มีความหมายคล้ายๆ Being)
Appearance แปลว่า สิ่งที่ปรากฎ
ตัวอย่างเช่น ด.ช. ก. กำลังตั้งใจเรียน (สิ่งที่ปรากฎ คือ ด.ช. ก. กำลังตั้งใจ
เรียน แต่จริงๆ แล้ว เขาอาจตั้งใจเรียนหรือไม่ตั้งใจเรียนก็ได้)
หมายถึง สภาพที่ปรากฏสู่การรับรู้ต่อสิ่งนั้น ซึ่งอาจตรงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้
Matter แปลว่า วัตถุหรือสสาร
ตัวอย่างเช่น ธาตุสี่ (ที่จะแปรรูป/สภาพเป็นสิ่งต่างๆ ต่อไป)
หมายถึง สิ่งที่มีความแผ่กว้าง ไม่มีจิต/มนัส สามารถรับรู้ได้ด้วย
ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส
Form แปลว่า รูปแบบ
ตัวอย่างเช่น วิญญาณของมนุษย์
หมายถึง ลักษณะที่เป็นสากลของภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่ ไม่สามารถรับรู้ได้
ด้วยประสบการณ์ระดับ
Body แปลว่า เทห์วัตถุ
ตัวอย่างเช่น ร่างกายมนุษย์ ร่างกายของสัตว์
หมายถึง สิ่งที่กินที่ มีขนาด ความแผ่กว้าง และอยู่ในกาล สถานที่ ซึ่งแปร
สภาพมาจากวัตถุ/สสาร
Mind, Spirit แปลว่า จิต, มนัส
ตัวอย่างเช่น สติปัญญาของมนุษย์
หมายถึง สภาวะที่เป็นจิต อันเป็นสมรรถภาพของภาวะ (สิ่ง) ที่มีอยู่แบบพิเศษ ที่ทำให้รู้ภาวะ (สิ่ง) สากลได้ โดยทั่วไปใช้กับมนุษย์ เทวดา และพระเจ้า
Transcendence แปลว่า อุตรภาพ
ตัวอย่างเช่น สวรรค์ นรก
หมายถึง ภาวะที่อยู่พ้นขอบเขตของโลกหรือผัสสะ
Truth แปลว่า ความจริง
ตัวอย่างเช่น นาย ก. กล่าวว่า “นาย ข. เป็นผู้ชาย” ซึ่งตรงกับที่ นาย ข. เป็น
ผู้ชายจริงๆ
หมายถึง ความรู้ที่ตรงกันกับความเป็นจริง
False แปลว่า ความเท็จ
ตัวอย่างเช่น นาย ก. กล่าวว่า “นาย ข. เป็นผู้หญิง” ซึ่งไม่ตรงกับความ
จริงที่ นาย ข. เป็นผู้ชาย
หมายถึง ความรู้ที่ไม่ตรงกันกับความเป็นจริง
5. สรุปประจำบท
การนำเสนอเนื้อหาในบทนี้ เป็นเพียงการนำเสนอแนวทางที่ผู้เขียนใช้ รวมทั้งตัวอย่างวิธีการทำความเข้าใจคำศัพท์ที่สำคัญบางคำ การที่ผู้เขียนนำเสนอดังกล่าว เพื่อให้ข้อสังเกตว่า แต่ละคนที่ทำการศึกษาวิชาปรัชญา (รวมทั้งศาสตร์อี่นๆ) ย่อมเป็นทั้ง “ศาสตร์”และ “ศิลป์” กล่าวคือ แต่ละสาขาวิชา ย่อมมีหลักการทั่วไปที่เป็นอัตลักษณ์ของสาขาวิชาที่เป็นศาสตร์ อย่างไรก็ตาม มนุษย์เป็นผู้ศึกษา และเป็นการศึกษาที่ไม่ใช่เพียงแค่คิดตามตำรา แต่ละคน ควรมีแนวทาง (เทคนิค) เฉพาะบุคคล เพื่อการศึกษาวิชาปรัชญา (และศาสตร์อื่นๆ ) จะไม่ได้เป็นเพียงแค่รู้ทฤษฏี หรือท่องจำเนื้อหา แต่การศึกษาที่แท้จริง ต้องสามารถนำไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต พัฒนาชีวิตของแต่ละคนก้าวสู่เป้าหมายชีวิต ตามความเป็นจริง
วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)